Last updated: 23 มิ.ย. 2564 | 10177 จำนวนผู้เข้าชม |
สิทธิประโยชน์ทางการค้า
มีผลอย่างไร กับธุรกิจส่งออก
สิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ สิทธิของสินค้าส่งออกของไทยภายใต้ระบบ GSP, GSTP, CEPT โดยจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีศุลกากรขาเข้าในกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจากสิทธิประโยชน์ทางการค้าจะทำให้สินค้าของไทยมีราคาถูกลง จูงใจให้ลูกค้าในต่างประเทศเกิดความต้องการในสินค้าของไทยเพิ่มมากขึ้น จนสินค้าของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
GSP
Generalized System of Preferences – GSP เป็นระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศพัฒนาแล้ว ได้ตกลงลดอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าแก่สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย โดยกลุ่มประเทศผู้ให้สิทธิได้แก่ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวัก บัลแกเรีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
GSTP
Global System of Trade Preferences Among Developing Countries – GSTP เป็นระบบสิทธิพิเศษทางการค้าที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยรวม 48 ประเทศ ได้ทำข้อตกลงระหว่างกัน โดยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีศุลกากรขาเข้าแก่สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้าระหว่างกัน โดยลดอัตราภาษีลงร้อยละ 2.5 – 100
CEPT
Common Effective Preferences Tariff – CEPT เป็นระบบสิทธิพิเศษทางภาษีโดยใช้ภาษีศุลกากรขาเข้าในอัตราที่เท่ากันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน โดยการลดอัตราภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่นำเข้าระหว่างกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอาเซียนรวม 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา
การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า
หากผู้ประกอบการส่งสินค้าออกตรวจสอบแล้วว่าสินค้าที่จะส่งออกไปนั้นได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า จะต้องดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เพื่อขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin – C/O) ได้แก่ Form A, Form GSTP, Form D จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งให้กับลูกค้าผู้นำเข้าสินค้าปลายทางเพื่อใช้แสดงต่อศุลกากรขอลดอัตราภาษีอากรขาเข้าภายใต้ระบบ GSP, GSPT, CEPT ตามลำดับ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นสินค้าที่ถูกกำหนดไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่ได้รับสิทธิเท่านั้น และจะสินค้านั้นจะต้องผลิตและส่งออกจากประเทศต้นทางที่ได้รับสิทธิตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า (Origin Criteria) เป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดหรือผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศต้นทางที่ได้รับสิทธิทั้งหมด หรือเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบนำเข้าไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละระบบ
2. การขนส่งโดยตรง (Direct Consignment) สินค้าจะต้องถูกขนส่งโดยตรงจากประเทศต้นทาง ไปยังประเทศผู้ให้สิทธิทางการค้า
3. หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ได้แก่ Form A, Form GSTP, Form D ซึ่งออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
บริษัท โกลบอล รีไลอันซ์ ทรานสปอร์ตแอนด์เซอร์วิส จำกัด ในฐานะตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการดำเนินการขอเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการดำเนินพิธีการศุลกากร รวมถึงหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อให้ทุกการส่งออกกลายเป็นเรื่องง่าย
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ผ่าน Contact us
8 เม.ย 2567
16 มิ.ย. 2564
8 มิ.ย. 2564