Last updated: 12 ม.ค. 2565 | 8794 จำนวนผู้เข้าชม |
ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยไปต่างประเทศ
กล้วยไม้เป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการส่งออก
โดยเฉพาะไม้ตัดดอก มีแหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และนนทบุรี
ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกสูงเป็นอันดับ
หนึ่งของโลก และมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศเนเธอร์แลนด์
ประเทศไทยส่งออกกล้วยไม้หลายชนิดโดยมีการส่งออกกล้วยไม้สกุลหวายมากที่สุด
รองลงมาได้แก่ อะแรนดา(มอคคารา) ลูกผสมออนซิเดียม ลูกผสมแวนดา และลูกผสมอะแรนเทรา
โดยตลาดส่งออกล้วยไม้ของไทยที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเวียดนาม ประเทศในสหภาพยุโรปและสาธารณรัฐประชาชนจีน
เนื่องจากที่ผ่านมา กล้วยไม้มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูงและช่วงการให้ผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
โดยกล้วยไม้สกุลหวายจะให้ปริมาณดอกมากในช่วงฤดูฝนซึ่งทำให้ดอกกล้วยไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ
แต่ความต้องการใช้ในกลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศจะมีมากในช่วงฤดูแล้ง
ซึ่งปริมาณกล้วยไม้มีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อไม้ประดับชนิดอื่นแทน
นอกจากปัญหาในด้านการผลิตแล้ว ยังมีปัญหาในด้านการส่งออกอีกด้วย
โดยในหลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและออสเตรเลียหันมาใช้มาตรการเข้มงวด
ในการตรวจหาแมลงศัตรูพืชในสินค้ากล้วยไม้นำเข้า โดยต้องผ่านกรรมวิธีรมควันและ
จุ่มสารเคมี ซึ่งส่งผลต่อความสวยงามตามธรรมชาติของกล้วยไม้และอายุการปักแจกันที่สั้นลง
รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการแย่งตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญ
ของไทยไปด้วย ได้แก่ ประเทศไต้หวันที่มาแย่งตลาดประเทศญี่ปุ่น
จากไทยไป ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก
ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกล้วยไม้ขึ้นมา
โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและ
เพิ่มมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม สินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยยังมีศักยภาพในการส่งออก
เนื่องจากไทยมีจุดได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิอากาศที่ดี
การผลิตที่มาตรฐาน นอกจากนี้ไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ
ที่มีความสวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาด ที่สำคัญการที่ไทยมี
FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรีด้านภาษี ที่ช่วยปลดล็อค
ข้อจำกัดทางการค้าต่างๆโดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร
ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในกลุ่มประเทศคู่ค้า
FTA 17 ประเทศ เช่น อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เป็นต้น ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้
เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคนในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60%
หลายคนอาจจะมองว่าการจะส่งออกกล้วยไม้นั้นมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องจดทะเบียนหลายอย่าง ในบทความนี้
เราจะมาสรุปขั้นตอนทั้งหมดให้ผู้ที่ต้องการส่งออกดอกกล้วยไม้ได้มองเห็นภาพและเข้าใจขั้นตอนอย่างเป็นระบบ
ก่อนอื่นผู้สนใจส่งออก ต้องลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออก ( e-Paperless ) กับทางกรมศุลกากรก่อน
ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางการค้าของแต่ละประเทศ ว่าสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีขาเข้าได้หรือไม่
เพื่อใช้ในการขอหนังรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า โดยผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนกับทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
หรือหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรณีขอ Form C/O ทั่วไป
จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร (ผลลำไยสด, กล้วยไม้สด) ไปนอกราชอาณาจักร โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียน
ได้ที่กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อใช้ในการขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate)
ตรวจสอบเงื่อนไขและกฎระเบียบในการนำเข้าของแต่ละประเทศ รวมถึงการขอใบอนุญาตนำเข้าจากประเทศปลายทาง
ทำการจองระวางขนส่งสินค้าโดยสามารถติดต่อผ่านทางตัวแทนขนส่งสินค้าหรือ Freight Forwarder
เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงการผ่านพิธีการศุลกากร (e-Customs)
เมื่อดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรเรียบร้อย ทางตัวแทนขนส่งสินค้าหรือ Freight Forwarder จะส่งเอกสารจำเป็น
ที่เกี่ยวข้องไปยังประเทศปลายทางเพื่อใช้ในการเตรียมดำเนินพิธีการขาเข้าต่อไป
หากผู้ส่งออกมีความเข้าใจในเงื่อนไขการส่งออก และมีการจัดเตรียมเอกสารรวมทั้งการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่าง ๆ
ได้ครบถ้วน ก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินพิธีการศุลกากร รวมทั้งการขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชลงได้
บริษัท โกลบอล รีไลอันซ์ ทรานสปอร์ตแอนด์เซอร์วิส จำกัด (GRT Cargo) ตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ยินดีให้คำแนะนำและ
พร้อมดูแลผู้ที่มีความสนใจส่งออกสินค้าดอกกล้วยไม้ตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน การจัดเตรียมเอกสารที่สำคัญ การจองระวางขนส่งสินค้า
จนกระทั่งการดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกของผู้ส่งออกลง โดยเรามีพันธมิตรสายการบิน
ที่หลากหลายพร้อมให้บริการครอบคลุมทุกเส้นทางบินทั่วโลก เพื่อช่วยผลักดันให้สินค้ากล้วยไม้ของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
15 ต.ค. 2564
16 มิ.ย. 2564
8 เม.ย 2567
8 มิ.ย. 2564