Last updated: 23 ก.ค. 2564 | 7670 จำนวนผู้เข้าชม |
การขายของส่งออก คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร
การขายส่งออก เป็นการขายสินค้าจากในประเทศ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ในทางภาษีอากร การขายส่งออกเข้าข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการขายสินค้าปกติทั่วไป
เพราะตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77 เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มระบุว่า “ขาย หมายถึง จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่และให้หมายความรวมถึง (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร” นอกจากนี้เมื่อผู้ประกอบการส่งออกมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับการขายปกติ
ทำไมการส่งออกต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อผู้ประกอบการส่งออกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ตามมาตรา80/1 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กิจการส่งออก ซึ่งเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าประเภทหนึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ใช้อัตรา 0% ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
วิธีคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับธุรกิจขายสินค้าส่งออก
การส่งออกที่อยู่ในข่ายต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม 0% เฉพาะกรณีที่กิจการดำเนินการส่งออกโดยผ่านพิธีการกรมศุลกากร หรือ การรายงานต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เมื่อมีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ว่ามีสินค้าอะไรบ้าง ใครเป็นผู้ส่งออก ส่งไปที่ใด
ส่วนการส่งออกทางไปรษณีย์หรือการนำติดตัวออกไปต่างประเทศ โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร กิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกันแต่เสียในอัตรา 7%
หน้าที่ของผู้ประกอบการส่งออกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
จะเห็นว่าการที่ผู้ประกอบการส่งออกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% มีผลเท่ากับไม่ต้องเสียภาษีจากการขายสินค้า และสำหรับภาษีซื้อสามารถยื่นขอคืนจากกรมสรรพากรได้
อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการส่งออกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังคงมีหน้าที่เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไปดังนี้
1. ออกใบกำกับภาษี การออกใบกำกับภาษีต้องออกให้ถูกเวลา คือออกเมื่อเกิดความรับผิด (Tax Point) สำหรับการส่งออกความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อ
1.1 มีการชำระอากรขาออก
1.2 มีการวางหลักประกันขาออก
1.3 จัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก และรวบรวมใบกำกับภาษีซื้อเมื่อมีการซื้อสินค้าและบริการ
2. จัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามที่กฎหมายกำหนด
3. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยสามารถยื่นแบบได้ทั้งทางออนไลน์หรือยื่นแบบที่กรมสรรพากรในเขตพื้นที่
นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรเก็บหลักฐานเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิกับกรมสรรพากร ว่าได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0%
1. Invoice คือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า ซึ่งแสดงชื่อสินค้า จำนวนและมูลค่าสินค้า ชื่อที่อยู่ผู้ขายและผู้ซื้อ เป็นต้น
2. Packing List คือเอกสารที่ผู้ส่งออกทำขึ้นเพื่อแสดงรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ ว่าบรรจุแบบใดหรืออยู่กล่องใด รวมถึงน้ำหนักและปริมาณโดยรวมของสินค้าแต่ละรายการ
3. หลักฐานการชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้ เช่นหลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit), หลักฐาน การทำ T/T (Telex of Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เป็นต้น ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าว สามารถใช้บันทึกรายการส่งออกสินค้าในรายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ บัญชีเงินสดรับหรือบัญชีขายแทนได้
4. สำเนาใบขนสินค้าในนามผู้ประกอบการที่ผ่านพิธีศุลกากร ฉบับที่มีการสลักหลังตรวจปล่อยสินค้า โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร
จากหน้าที่ที่กล่าวมาของผู้ประกอบการส่งออกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติติตามทางกรมสรรพากรกำหนดบทลงโทษไว้ดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบการที่ไม่จัดทำใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
2. ผู้ประกอบการที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
อ้างอิง: https://www.beeaccountant.com/revenue_vat_export
คำสั่งกรมสรรพากรที่ป.97/2543 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
https://www.rd.go.th/ความรู้เรื่องภาษี/ภาษีมูลค่าเพิ่ม/กำหนดโทษการปฏิบัติติฝ่าฝืนเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
8 มิ.ย. 2564
16 มิ.ย. 2564
8 เม.ย 2567